ประวัติกองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ

Release Date : 11-10-2022 20:22:08
ประวัติกองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ

ข้อมูลและที่ตั้ง

กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ (ดย.ทร.ฐท.กท.)
ตั้งอยู่บริเวณฐานทัพเรือกรุงเทพ  ถ.อิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กทม. ๑๐๗๐๐
โทรศัพท์ติดต่อ ๐ ๒๔๗๕ ๓๐๕๔ โทรสาร (Fax) ๐ ๒๔๗๕ ๓๐๕๔
เว็บไซต์ของสถาบัน http://www. navy.mi.th/musicdiv  และมีเนื้อที่ ๙ ไร่ ๑ งาน ๓๖ ตารางวา โดยมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ        : จรด ฐท.กท.
ทิศตะวันออก : จรด ขส.ทร.
ทิศใต้            : จรด คลองมอญ
ทิศตะวันตก   : จรด ถนนอิสรภาพ
 

 

ประวัติกองดุริยางค์ทหารเรือ
          กองดุริยางค์ทหารเรือ กล่าวคือ หน่วยดุริยางค์ทหารเรือ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาการทหาร ให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงทรงสนับสนุนให้มีวงดนตรีเพื่อการเดินสวนสนามของทหาร ตามแบบตะวันตกและในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ได้มีการก่อตั้งหน่วยดุริยางค์ของทหาร เรียกว่า"กรมแตรมะรีน" เป็นแตรวงสำหรับทหารเรือฝ่ายบกของกรมแตรมะรีน มิได้มีหน้าที่บรรเลงให้หน่วย ของทหารเรือฝ่ายบกอย่างเดียว ยังได้บรรเลงบนเรือรบในพิธีการสำคัญ เช่น เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งแรกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๔๐ การไปราชการในครั้งนั้นได้มี ร้อยเอก ฟุสโก เป็นผู้บังคับบัญชา กองดุริยางค์ทหารเรือ ได้มีการบรรจุในอัตรากำลังของกองทัพเรือเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ มีชื่อว่า "กองแตร" ขึ้นการบังคับบัญชากับกรมทหารเรือฝ่ายบกมีเรือเอกหลวงพิมลเสนี ผู้บังคับกองแตร ซึ่งในขณะนั้น จอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พระองค์ทรงโปรดการดนตรี และ สนพระทัยวงดนตรีทหารเรือมากได้ทรงวางรากฐานในด้านต่างๆ จนทำให้กองแตรเจริญก้าวหน้า และพัฒนาขึ้นอย่างมากเป็นผลมาถึงปัจจุบันทรงนิพนธ์เพลงไทยไว้หลายเพลง  ทรงกำหนดหลักสูตรการศึกษาวิชาการดนตรี เรียกว่า"วิชาการแตร" เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ ซึ่งนับว่าดนตรีของทหารเรือ ได้เจริญขึ้นอย่างมากสมดังพระประสงค์ของพระองค์ท่าน ในปี พ.ศ.๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งวงดุริยางค์ มีชื่อว่า "วงเครื่องสายฝรั่งหลวง" สังกัดกรมมหรสพ กระทรวงวัง หลังจากนั้นมาวงดนตรี ประเภทวงดุริยางค์เริ่มเป็นที่สนใจของคนไทยทั่วไป ในปีพ.ศ.๒๔๗๘ วงดนตรีของทหารเรือ ซึ่งเดิม ชื่อว่า "กองแตร" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น"หมวดดุริยางค์ทหารเรือ" ขึ้นการบังคับบัญชากับสถานีทหารเรือกรุงเทพ มีการขยายอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้น แบ่งส่วนราชการออกเป็น ๒ ส่วน คือ แผนกแตรวง และแผนกซอวง ซึ่งแผนกซอวงก็คือ วงดุริยางค์ราชนาวีกองดุริยางค์ทหารเรือ ได้พัฒนาปรับปรุง ให้เจริญก้าวหน้าตลอดเวลา ทั้งในด้านองค์บุคคลและองค์วัตถุได้จัดตั้งโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อรับบุคคลพลเรือนเข้ามารับการฝึกหัดเป็นนักดนตรีทหารเรือต่อมาสามารถจัดวงดุริยางค์ซิมโฟนี่ แสดงในรูปแบบคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๒ และจัดตั้งวงดนตรีไทยเดิม วงหัสดนตรี นักร้องประสานเสียง เพื่อปฏิบัติภารกิจทั้งในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และงานบรรเลงต่าง ๆ จนได้รับคำชมเชย และสร้างชื่อเสียงให้กองทัพเรือ
 
สัญลักษณ์กองดุริยางค์ทหารเรือ
เป็นรูปสมอ พิณ ภายใต้มหามงกุฎ เบื้องล่างมีแถบปลายแฉกสะบัดขึ้นทั้งสองข้าง กลางแถบมีคำว่า “กองดุริยางค์ทหารเรือ”
(ไม่จำกัดสีและขนาด)
 
 
 
ภารกิจ วิสัยทัศน์ ค่านิยม กองดุริยางค์ทหารเรือ
ภารกิจ
       กองดุริยางค์ทหารเรือมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการดุริยางค์ การศึกษาและฝึกอบรมแก่ทหารเหล่าดุริยางค์ เหล่าสัญญาณแตรเดี่ยวและนักเรียนดุริยางค์ ตลอดจนกำกับดูแลเกี่ยวกับกิจการดุริยางค์   โดยมีผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบ
 
วิสัยทัศน์  
      จะเป็นสถาบันการดนตรีชั้นนำในภูมิภาค ที่พร้อมจะปฏิบัติทุกภารกิจอย่างดีเยี่ยม
 
ค่านิยมร่วมของสถาบัน คือ MUSICIAN โดยแต่ละตัวอักษรมีความหมาย ดังนี้
 
 
      หมายถึง    Musicianship     ความเป็นนักดนตรี
    U    หมายถึง    Universal           ความเป็นสากล
    S    หมายถึง    Seniority           เคารพครูและอาวุโส
       หมายถึง    Integrity            ความซื่อสัตย์ ไว้ใจได้
    C    หมายถึง    Courage           ความกล้าหาญ
    I     หมายถึง    Initiative            ความริเริ่ม สร้างสรรค์
   A     หมายถึง    Altruism           ความเสียสละ
      หมายถึง     Navy                 ความเป็นทหารเรือ
 
โครงสร้างและการจัดส่วนราชการ
กองดุริยางค์ทหารเรือ เป็นหน่วยขึ้นตรง ฐานทัพเรือกรุงเทพ แบ่งส่วนราชการออกเป็น ๕ ส่วน ดังนี้
     ๑. แผนกธุรการ มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการธุรการ การสารบรรณ การกำลังพล และการเงิน
     ๒. แผนกวิทยาการ มีหน้าที่ดำเนินการประพันธ์เพลง เรียบเรียง บันทึกเสียง ปรับปรุง รวบรวม เก็บรักษาโน้ตเพลงที่ใช้ในการบรรเลง วิจัยและพัฒนากิจการดุริยางค์ ประมวล ปรับปรุง ผลิตตำราคู่มือและโน้ตที่ใช้ในการศึกษาและฝึกอบรม ตลอดจนประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารภายในและภายนอก ทร.
     ๓. แผนกดนตรี มีหน้าที่ประสานและจัดการแสดงดนตรีในงานต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย จัดทำสถิติและปรับปรุงการบรรเลงให้ได้ระดับมาตรฐาน
     ๔. แผนกสนับสนุน มีหน้าที่ให้การสนับสนุนในด้านกิจการพลาธิการและการดนตรี
     ๕. โรงเรียนดุริยางค์ มีหน้าที่ให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่ทหารเหล่าดุริยางค์ เหล่าทหารจำพวกแตร เดี่ยว นักเรียนดุริยางค์และอื่นๆ ตลอดจนการประกันคุณภาพการศึกษา
 
 
 
การปฏิบัติงาน
       กองดุริยางค์ทหารเรือมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกิจการดุริยางค์ การศึกษาและฝึกอบรม แก่ทหาร เหล่าดุริยางค์ เหล่าสัญญาณแตรเดี่ยวและนักเรียนดุริยางค์ ตลอดจนกำกับดูแลเกี่ยวกับกิจการดุริยางค์ โดยมี ผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบ
      ๑. งานด้านการดนตรี ขับร้องและการแสดง รวมทั้งการสนับสนุนเกี่ยวกับกิจการดุริยางค์เป็นหน้าที่หลักกองดุริยางค์ทหารเรือฯ
      ๒. งานด้านการศึกษาและฝึกอบรม เป็นหน้าที่หลักโรงเรียนดุริยางค์ฯ ในการให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียนดุริยางค์ ข้าราชการเหล่าดุริยางค์ และพลทหารเหล่าสัญญาณแตรเดี่ยว
           ๒.๑  นักเรียนดุริยางค์ ปัจจุบันใช้หลักสูตรในการศึกษา ๓ ปี สำเร็จการศึกษาได้รับยศจ่าตรี และเทียบวุฒิ ปวช. 
           ๒.๒  ข้าราชการเหล่าดุริยางค์ ได้แก่ หลักสูตรอาชีพชั้นพันจ่าเอก และหลักสูตรอาชีพชั้นจ่าเอก เพื่อเลื่อนฐานะและเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ข้าราชการเหล่าดุริยางค์
           ๒.๓  พลทหารเหล่าสัญญาณแตรเดี่ยว ได้แก่ การเปิดอบรมหลักสูตรพลสัญญาณแตรเดี่ยวปีละ ๔ รุ่นๆ ละประมาณ ๑๕-๓๐ นาย (ระยะเวลาในการอบรม ๖ เดือน)